สิ่งของ ความทรงจำ ความหมาย และคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกหลอมรวมและบรรจุอยู่ภายใน
“Never Gets Old” บ้านรีโนเวทสองชั้นใจกลางเมืองสุขุมวิท
ซึ่ง “คุณณรงค์-คุณฉัตรี ชัยประยูรหัทธยา” ในฐานะเจ้าของบ้านผู้คุ้นเคยกับการ
อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้มานาน ก็ได้ไว้วางใจให้ “คุณปิยะพงษ์ ชาวป่า” สถาปนิกจาก “Teem Studio Design” มารับหน้าที่สร้างสรรค์รีโนเวทบ้านใหม่ โดยหยิบองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุที่มีอยู่เดิม มาเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงแต่งให้มีกลิ่นอาย
สุดคลาสสิค และทำให้ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางใจ พร้อม ๆ กับการใช้งานที่ลงตัวมากยิ่งขึ้น
คุณฉัตรี – คุณณรงค์ ชัยประยูรหัทธยา
จุดเริ่มต้นจากความต้องการที่อยากเก็บสิ่งของและเฟอร์นิเจอร์เก่าภายในบ้านไว้ทั้งหมด บวกกับตัวบ้านที่มีระยะความสูงฝ้าค่อนข้างน้อย ทำให้เกิดปัญหาความทึบตันและแสงสว่าง
ไม่เพียงพอ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้บ้านเก็บความวินเทจเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง
ไปพร้อม ๆ กัน สถาปนิกจึงเริ่มจากการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของบ้านให้สว่างสดใสขึ้นด้วยสีขาว ผสานเข้ากับ Façade ใหม่จากอิฐบล็อกช่องลมที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ สร้างความเป็นส่วนตัวและสามารถระบายอากาศได้
ในคราวเดียวกัน
อย่างถัดมาคือ การขยับขยายพื้นที่จอดรถจากสองคัน และปกคลุมพื้นที่ด้วยหลังคาโครงสร้างเบาชนิดโปร่งแสง โดยนำหลังคาจากส่วนครัวเดิมที่ไม่ใช้แล้วมาแปลงโฉมใหม่ เพื่อให้ส่วนหน้าบ้านดูโปร่งมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจัดภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อสร้างความร่มรื่นให้กับบ้าน
แปลนบ้าน ชั้น 1 และ ชั้น 2 เปรียบเทียบระหว่างก่อนรีโนเวท และหลังรีโนเวท
-เปิดให้โปร่ง เก็บของเก่าให้คลาสสิค
เมื่อก้าวเข้าสู่ตัวบ้าน เดิมทีพื้นที่ส่วนหน้าถูกปิดกั้นด้วยผนังโดยรอบ จนทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงไม่เพียงพอและถ่ายเทอากาศได้ไม่ดีนัก สถาปนิกจึงมองเห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ โดยทลายกำแพงรอบด้านออกไปให้เป็นชานบ้านที่เปิดโล่งในทุกทิศทาง เสมือนพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมานั่งเล่นพร้อมชื่นชม
กับบรรยากาศรอบๆได้ และหากสังเกตด้านบนจะพบกับพื้นไม้มะค่าเก่าที่ถูกนำมา
ขัดสีใหม่ เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้บ้านหลังนี้มีกลิ่นอายของความคลาสสิค
อย่างสมบูรณ์แบบ
-พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในบ้าน
พื้นที่ภายในถูกแบ่งสรรปันส่วนใหม่ อย่างเช่น โซนจัดแสดงของสะสมที่สถาปนิกได้ออกแบบชั้นวางเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้สิ่งของที่ถูกเก็บไว้มานาน
ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย ชาม หรือของอื่นๆในสไตล์แอนทีค ได้กลับมาจัดแสดงอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง คล้ายกับเป็นมิวเซียมขนาดย่อมๆที่บ่งบอกถึงความชอบส่วนตัว และสะท้อนความทรงจำอันแสนอบอุ่นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นภายในบ้าน ล้วนแล้วแต่เป็นของเดิมที่เจ้าของมีความผูกพัน โดยบางชิ้นถูกนำไปแปลงโฉมใหม่และซ่อมแซมให้แข็งแรง เพื่อรักษาความสวยงามและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้น
-หัวใจสำคัญของบ้าน กับแสงธรรมชาติที่เปลี่ยนไป
“เนื่องจากระดับความสูงของฝ้าค่อนข้างต่ำกว่าปกติ ปริมาณแสงธรรมชาติที่เข้ามาทำให้บรรยากาศดูทึบตัน และด้วยข้อจำกัดที่ต้องเก็บรักษาโครงสร้างเดิมไว้ เราจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ Double Space ภายในบ้าน” สถาปนิกเล่าให้ฟังถึงที่มาของการออกแบบห้องรับประทานอาหารใหม่ที่ทุกคนใช้เวลาร่วมกันมากที่สุดให้กลายเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน โดยเริ่มจากปรับระดับหลังคาให้สูงโปร่งขึ้น พร้อมเพิ่มมิติความน่าสนใจ ด้วยองศาความลาดเอียงของฝ้า ผสมผสานกับการใช้อิฐบล็อกช่องลมบริเวณผนังชั้นสอง และสุดท้ายเติมความอบอุ่นด้วยชุดโต๊ะเก้าอี้เซทเดิม
ห้องรับประทานอาหารก่อนและหลังการรีโนเวท
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องแสงด้วยหน้าต่างบานใหญ่เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามา ทำให้พื้นที่ภายในดูโปร่งโล่งอย่างที่ตั้งใจไว้ รวมไปถึงการออกแบบระเบียงภายนอก
ที่เชื่อมต่อไปยังบ่อปลาเล็ก ๆ และการจัดวางโต๊ะเก้าอี้ไว้สำหรับนั่งเล่น ก็ช่วยเพิ่มบรรยากาศที่ดีในการอยู่อาศัยอีกด้วย ถึงแม้ห้องครัวจะมีพื้นที่จำกัด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยมีการออกแบบหน้าต่างด้านบนเพิ่มเติมเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาอย่างทั่วถึง ซึ่งข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในเวลากลางวันเลย
–เปลี่ยนระดับ ปรับทิศทาง
เนื่องด้วยสมาชิกภายในบ้านอย่างคุณแม่ที่อาจจะต้องใช้วีลแชร์ในบางครั้งบางคราว เลยทำให้ส่วนของห้องน้ำมีการออกแบบเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระดับพื้น
ที่สโลป และไม่มีธรณีประตู เพื่อให้วีลแชร์สามารถผ่านไปได้อย่างสะดวกสบาย รวมไปถึงการเปลี่ยนทิศทางตำแหน่งของฟังก์ชันใหม่ ให้ลงตัวมากขึ้น โดยแยกสัดส่วนระหว่างห้องน้ำและห้องอาบน้ำอย่างชัดเจน นอกจากนี้สถาปนิกยังแก้ปัญหาเรื่องผนังห้องน้ำที่ไม่สามารถมีช่องเปิดได้ ด้วยการใช้บล็อกแก้วแทนซึ่งเป็นวัสดุที่แสง
ลอดผ่านได้ทำให้ห้องน้ำดูโปร่งมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
สำหรับบันไดของบ้านหลังนี้สภาพยังค่อนข้างดีอยู่ สถาปนิกจึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่ขัดและทำสีไม้ใหม่เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อไม้และยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนพื้นที่ชั้นลอยใต้หลังคาถูกออกแบบให้เป็นห้องพระเล็กๆ สำหรับไหว้พระ สวดมนต์ และนั่งสมาธิด้วย
-สร้างมุมใหม่ภายใต้ความคลาสสิค
การปรับพื้นที่ภายในห้องนอนใหม่ “เนื่องจากเดิมทีมีส่วนของคานที่นูนขึ้นมาจากพื้น ทำให้การใช้งานไม่ค่อยสะดวก และอาจเกิดอันตรายกับเจ้าของบ้านได้ “ สถาปนิกจึงปรับใหม่ให้มีการเล่นระดับพื้นระหว่างส่วนของที่นอน และโต๊ะทำงานเป็นสองสเต็ปขึ้นไป พร้อมทั้งจัดสัดส่วน เปลี่ยนห้องเป็นสีขาว และเพิ่มดวงไฟในจุดที่จำเป็น ทำให้ห้องดูเรียบง่าย และสบายตามากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดวาง
กรอปรูปต่าง ๆ เพื่อให้ดูเก๋และอบอุ่นไปด้วยความทรงจำ
มุมจัดแสดงภาพวาด และภาพถ่ายที่มีความหมายกับเจ้าของบ้าน
ห้องนอนก่อนและหลังการรีโนเวท ที่ปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้งาน และสัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น
และทั้งหมดนี้คือจุดเชื่อมต่อระหว่างการรีโนเวทบ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำเก่า ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเดิม เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจกับเจ้าของบ้าน
ส่งผ่านผลลัพธ์ในรูปแบบที่พิเศษและทำให้ของเก่ามีความหมายมากขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องความสูงของฝ้า แต่การออกแบบก็ทำให้บ้าน Never Gets Old หลังนี้
ดูปลอดโปร่งขึ้น การอยู่อาศัยจึงเต็มไปด้วยความสุขและความอบอุ่นอยู่เสมอ
Never Gets Old House
เจ้าของบ้าน : คุณณรงค์-คุณฉัตรี ชัยประยูรหัทธยา
สถาปนิก : คุณปิยะพงษ์ ชาวป่า Teem Studio Design
ที่ตั้ง : สุขุมวิท101/1, กรุงเทพฯ
พื้นที่ : 185 ตร.ม.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อสอบถามได้ที่ ► https://www.teemgroup.com/studio-design/residential/